การยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง และ การตรวจสอบ เพื่อความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ในการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งปี 2566 กกต.กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ความสำคัญของการจัดทำบัญชี ประกอบไปด้วย
การจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งส.ส. โดย
* บันทึกบัญชีทุกรายการต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบการลงรายการ
* จัดทำรายงานรายรับและรายจ่าย และสรุปยอดรวมการใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด อย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ
* เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงและต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของบัญชีรายรับและรายจ่าย เพื่อยื่นต่อเลขาธิการกกต. หรือผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร โดยต้องยื่นด้วยตนเอง หรือ มอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้อื่นยื่นแทน ภายใน 90 วัน
ระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งทั่วไปจากการยุบสภา ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตแต่ละคน ต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,900,000 บาท และ พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 44,000,000 บาท
ค่าใช้จ่ายที่ผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้ง ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย โดยให้คำนวณตามค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้ง
(1) ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามมาตรา 65 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2562 (หลังวันเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562) ไปจนถึงก่อนวันยุบสภา คือวันที่ 19 มีนาคม 2566 ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป (ถ้ามี) ต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งด้วย
(2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ยุบสภา คือวันที่ 20 มีนาคม 2566 ไปจนถึงวันเลือกตั้ง คือวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นำค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งในข้อ (1) และ (2) มารวมคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ด้วย
อะไรบ้างที่ถูกกำหนดว่าเป็นรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง
1. รายรับในการเลือกตั้ง
มาจากการรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ที่ได้รับมาเพื่อใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต มีดังนี้
(1) เงินที่พรรคการเมืองจัดสรรให้
(2) เงินหรือทรัพย์สินส่วนตัวของผู้สมัคร
(3) การรับบริจาคเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง
(4) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน
กรณีที่ผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต ได้รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่ารวมกันแล้ว เกิน 10,000 บาทต่อวัน ที่มีผู้บริจาคให้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หรือเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ต้องแจ้งให้กกต.ทราบภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับบริจาค
ในกรณีที่ผู้สมัครสงสัยว่าเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ตนได้รับ เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง หรือ เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง หรือไม่ ให้ส่งเรื่องให้กกต.วินิจฉัย
2. รายจ่ายในการเลือกตั้ง
กกต.กำหนดตัวอย่างประเภทค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครส.ส.เอาไว้ดังนี้
(1) ค่าสมัครรับเลือกตั้ง และ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครรับเลือกตั้ง
(2) ค่าจ้างแรงงาน เช่น ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง ค่าจ้างในการปิดป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าจ้างแจกใบปลิว แผ่นพับ รวมทั้งค่าจ้างแรงงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง
(3) ค่าจ้างทำของ เช่น ค่าจ้างทำเสื้อแจ็กเก็ต หมวก และเสื้อยืด หรืออื่น ๆ สำหรับผู้ช่วยหาเสียง
(4) ค่าโฆษณาในสื่อต่าง ๆ เช่น ค่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ค่าผลิตสื่อ เพื่อการออกอากาศ รวมถึงค่าโฆษณาอื่นที่เป็นการหาเสียงเลือกตั้ง
(5) ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียง
(6) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูป อินสตราแกรม กูเกิ้ล แอปพลิเคชัน
(7) ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
(8) ค่าเช่าสถานที่ และค่าตกแต่งสถานที่ เช่น ค่าเช่าสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ค่าเช่าสถานที่เพื่อปราศรัยหาเสียง
(9) ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าจ้างเหมารถยนต์ เรือยนต์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง ค่าเช่าที่พัก
(10) ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการทางไปรษณีย์ ค่าถ่ายเอกสาร
(11) ค่าอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียง
(12) ค่าอบรมผู้สมัครหรือผู้ช่วยหาเสียง
(13) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม
การยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 67 กำหนดให้ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส.จะต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ตรงตามข้อเท็จจริง และ ถูกต้องตามกฎหมาย อยู่ในระยะเวลา และวงเงินที่ กกต. กำหนด
การยื่นบัญชีรายรับและรายจ่าย อย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้วและที่ยังค้างชำระ รวมทั้งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงและผู้สมัครต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องด้วย ผู้สมัครต้องจัดทำรายงานรายรับและรายจ่าย และแบบสรุปค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและแบบรายการเอกสารนำส่ง จำนวนอย่างละ 6 ชุด เพื่อประกอบการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง และให้เรียงลำดับเอกสาร ดังนี้
(1) แบบสรุปค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและแบบรายการเอกสารนำส่ง
(2) รายงานรายรับและรายจ่าย
(3) บัญชีรายรับ
(4) บัญชีรายจ่าย
(5) บัญชีจ่ายแทนกัน และ
(6) บัญชีค่าใช้จ่ายค้างจ่าย
บัญชีตาม (3) - (6) ให้แนบเอกสารหลักฐานประกอบรายการบัญชีแต่ละรายการให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง
พรรคการเมืองและผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขต สามารถยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2566 เป็นต้นไป การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยมีผู้สมัครของพรรคการเมืองที่เกิดปัญหายื่นบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ทัน ไม่ครบถ้วน ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
สามารถ Add Friends (เพิ่มเพื่อน) เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2566 ได้ที่ LINE Official Account : ECT Thailand
https://lin.ee/jETxaeu